21 สิงหาคม 2552

ภูมปํญญาไทยเพลงพื้นบ้าน

วันนี้ ผมนำวีดิโอของหมอแดนไพร อรัญ ที่ผมให้ตำแหน่ง "ปราชญ์ชาวบ้านด้านเพลงพื้นบ้าน" แก่ท่าน ลุงหมอใจดี ขับเพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้ หรือภาษาแต่แรกเรียกว่า "เพลงร้องเรือ" ให้เราฟังรวดเดียวสิบห้าเพลงครับ ตอนนี้ลุงหมอประจำอยู่ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายางครับ ลองฟังน้ำเสียงสด ๆ ของลุงหมอดูนะครับ

19 สิงหาคม 2552

กระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต

หลายท่าน ไม่ว่านักศึกษาหรือแม้แต่ผู้เข้ามาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต อาจจะยังเคยชินอยู่กับการเรียนแบบเก่า นั่นคือ "สอนมาก เรียนน้อย" โดยเฉพาะอาจารย์ผู้มาจากการศึกษาแบบเก่า วันนี้ผมมีบรรยากาศการจัดกระบวนการเรียนรู้ "แบบมหาวิทยาลัยชีวิต" ตามความเข้าใจของผมเองนะครับ อย่าเข้าใจว่าที่ผมเอามาแบ่งปันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องสิ่งเดียว เพราะการคิดแบบนี้ ก็คือการคิดในระบบการศึกษาแบบเก่าที่เชื่อใน "สิ่งที่ถูกต้องที่สุดเพียงสิ่งเดียว" ตามวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าของนักวิทยาศาสตร์สังคมท่านหนึ่ง (the one best way, F.W. Taylor, Scientific Management) ขอให้มองเพียงว่า "เป็นเพียงวิธีเดินไปสู่จุดหมายเดียวกันวิธีหนึ่งเท่านั้นเอง

วันนั้นผมได้รับเกียรติให้บรรยายในหลักสูตร "การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ระบบกสิกรรมธรรมชาติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง" ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายางครับ หัวข้อที่ผมได้รับมอบหมาย ทางศูนย์ฯ แจ้งว่า ต้องการให้ผู้เข้าฝึกอบรม ตื่นตัว และมองเห็นความเป็นไปได้ในการนำความรู้ไปปฏิบัติ ผมจึงแจ้งทางศูนย์ไปว่าจะบรรยายในชื่อเรื่องว่า "เตรียม!!!ปลดปล่อยพลังใน เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายของชีวิต" ชื่อค่อนข้างยาวครับ ผมมีเวลาสองชั่วโมงในการทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ครับ

ผมเลือกใช้วิธีการสัมนาเชิงปฏิบัติการมาใช้ โดยแบ่งเวลาชั่วโมงครึ่งให้เป็นของผู้เข้าร่วม อีกครึ่งชั่วโมง ผมจับประเด็นและสรุปครับ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เสียงสะท้อนหลังจากจัดกระบวนการเสร็จ หลายคนบอกว่า "ดี ไม่ง่วง" และก็เป็นดังที่ผมคาดครับคือ "ครึ่งหนึ่งเข้าใจ อีกครึ่งหนึ่งไม่เข้าใจ" เป็นคำสะท้อนที่ดีมากครับ เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องไปปรับวิธีการนำเสนอ และภาษาในการสื่อสารให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้มากกว่านี้ นี่ยังดีนะครับ ถ้าเป็นครั้งแรก ๆ ผู้ฟังส่วนใหญ่บอกว่า "ไม่เข้าใจ" ลองมาดูขั้นตอนในการนำเสนอของผมดูบ้างครับ เผื่อท่านจะได้ให้คำแนะนำว่า ผมควรปรับตรงไหน

ตอนแรกผมปลุกให้ผู้เข้าร่วมสัมนาตื่นตัวโดยผมยืมเทคนิคของอาจารย์ณรงค์ ศรีวารินทร์ อาจารย์พิเศษของหลายศูนย์ฯ ในนครศรีธรรมราช มาใช้ครับ ผมให้ผู้เข้าร่วมนับเลข โดยให้จำนวนที่ลงท้ายด้วย 3 ตบมือ แต่ถ้าลงท้ายด้วย 7 ให้ลุกขึ้น เป็นวิธีการที่เรียบง่าย แต่ได้ผลดีมากครับ ผู้เข้าร่วมตื่นตัวดีมาก เพราะถ้าเผลอ คนที่จะต้องตบมือก็จะพูดออก และคนที่จะลุกขึ้นยืน ก็ไม่ลุกขึ้นแต่นับเลข เป็นต้น ผมได้เรียนเทคนิคนี้จากอาจารย์ณรงค์ครับ สมัยไปปฐมนิเทศนักศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ช้างกลางครับ

ต่อมาผมให้แต่ลคู่หันหน้าเข้าหากัน แล้วให้ถามคำถามคู่ของตนสามคำถามต่อไปนี้ครับ หนึ่ง คุณคือใคร? (อันนี้ได้จากอาจารย์ณรงค์ อีกเช่นเคยครับ) สอง เกิดมาทำไม? และสาม ชีวิตนี้หวังอะไร? เสร็จแล้วให้แต่ละคู่ออกมาเล่าเรื่องของเพื่อนตามคำถามที่ถามครับ ตอนนี้ก็เพิ่มความสนุนสนานขึ้นไปอีกครับ หลายคนบอกว่า เกิดมา 70 ปี แล้ว เพิ่งได้จับไมค์เป็นครั้งแรก ผมชอบตอนนี้มากครับ ที่ได้มอบโอกาสให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม แต่ก็มีคุณป้าบางคนนะครับ ตื่นเต้นจน "ลมขึ้น" ก็มี ผมต้องช่วยปฐมพยายาลโดยการ "กดจุด ลมปราณ" นั่นแหละ ถึงจะดีขึ้น

พอนำเสนอเสร็จ ผมก็ได้ถามคำถามปิดท้าย ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมต้องตัดสินใจแล้วว่า จะนำความรู้ไปปฏิบัติหรือไม่ ผมถามว่า หนึ่ง อะไรขัดขวางเราจากการมีชีวิตในแบบที่เราต้องการ สองทำไมเราถึงทำในสิ่งที่เราทำอยู่ และสาม อะไรกำหนดอารมณ์และทางเลือกของเรา คำถามนี้ผมถามให้ผู้เข้าอบรมตอบตัวเองครับ โดยผมอธิบายเพิ่มเติมว่า "พฤติกรรมของคนเราถูกกำหนดโดยสามสิ่งภายในตัวเราเองคือ ลักษณะท่าทางด้านร่างกาย ความสนใจ และภาษาพูด" เราสามารถเปลี่ยนจากความซึมเศร้าไปสู่ความสุขได้ "ชั่วลัดนิ้วมือ" โดยการเปลี่ยนทั้งสามอย่างที่กล่าวมาข้างต้นครับ เราสามารถทำอะไรก็สำเร็จ ถ้าเราควบคุมสิ่งทั้งสามสิ่งนี้

แม้ผู้เข้าร่วมสัมนาจะสะท้อนออกมาว่า เข้าใจเพียงครึ่งเดียว แต่ผมก็พอใจครับ แน่นอน การปรับปรุงเป็นสิ่งที่ผมต้องทำต่อไป ลองชมภาพบรรยากาศแล้วมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นครับ
ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง
18 สิงหาคม 2552

18 สิงหาคม 2552

ปราชญ์ชาวบ้านด้านบทกลอน

ผมได้รู้จักกับ "หมอแดนไพร อรัญ" มาร่วมปีแล้วครับ วันหนึ่งได้มีโอกาสฟังลุงหมอว่ากลอนแปดสด ๆ เรื่องผักพื้นบ้านครับ ผมเลยเอามาฝากท่านทั้งหลายโดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตครับ หากมีโอกาสคงจะได้เชิญลุงหมอมาว่ากลอนสด ๆ ให้เราฟังในห้องเรียนครับ

คำแนะนำในการเรียนกับมหาวิทยาลัยชีวิต

ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งประสาทปริญญาโดย สถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน หรือที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัยชีวิต" นั้น มุ่งสร้าง "ผู้รู้" ให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศํกดิ์ศรีและมีกิน ผู้ที่มาเรียนทุกท่าน จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า "เรามาเพื่อเรียนรู้" ไม่ได้มาเพียงเรียนเพียงแค่เพื่อ "ให้ได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกะเขาสักคน" คำแนะนำสำหรับผม ผู้ที่เคยหลงผิดมาแล้ว ในการเรียนกับการศึกษากระแสหลัก ที่ต้องการเพียงแค่ "ความโก้หรู" กับการได้ชื่อว่า เป็น "บัณฑิต" "มหาบัณฑิต" หรือแม้แต่มีคำนำหน้าว่า "ด๊อกเตอร์" กะเขา กว่าจะได้มารู้จักกับการเรียนรู้จริง ๆ ก็เมื่อได้มารู้จักกับมหาวิทยาลัยชีวิตนี่แหละ ทำให้ผมได้รู้จักวิธีการเรียนกับมหาวิทยาลัยชีวิตบ้าง

สำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตให้มีความสุข และความสำเร็จจะตามมาเอง ผมมีข้อคิดที่จะแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาทั้งหลายดังต่อไปนี้ครับ ที่สำคัญ "อ่านแล้ว อย่าเชื่อทันที ต้องนำไปใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน" เพราะอย่างที่โบราณว่าไว้ "ลางเนื้อ ชอบลางยา" ลองอ่าน แล้วลองเอาไปทำดู ถ้าเป็นประโยชน์ ก็ทำต่อไป ถ้าทำแล้วเป็นทุกข์ เป็นโทษ ก็อย่าลังเลที่จะเปลี่ยนหาวิธีที่เหมาะสมกับเราครับ ลองอ่านดูนะครับ

อันดับแรก ห้องเรียนของเรา คือห้องเรียนจริง ๆ ครับ ไม่ใช่เรียก "ห้องเรียน" แล้วสอนเอา ๆ ผู้เรียนก็ได้แต่จำเอา ๆ เพื่อไปสอบ เสร็จแล้วก็ไม่เกิดการเรียนรู้อะไร อย่างที่ว่าครับ ห้องเรียน คือ ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่เอาตัวมานั่งอยู่ในห้องบางที่อาจต้องเซ็นชื่อแล้วเรียกว่า "มีส่วนร่วม" เหมือนที่เราพบเห็นในระบบราชการเขาทำกันนะครับ ส่วนร่วมคือ "ต้องเอาใจมาด้วย" คือ ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในเนื้อหาที่เราฟังจากผู้อื่น และที่เราพูดเองด้วย ผมอยากจะให้ท่านลองนึกถึง ศิลปินที่เวลาท่านพูด ท่านนำเสนอผลงานของท่าน อย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั่นแหละครับ เพราะการเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามันไม่ผ่านมาทาง "หัวใจ" ครับ การศึกษากระแสหลักเขาสอน "หัวคิด" ครับ แต่เราต้องการสร้างคนที่มี "หัวใจ" นำ "หัวคิด" ครับ

นั่นเป็นหลักการสำคัญในการเรียนกับมหาวิทยาลัยชีวิต ตามความเข้าใจของผมที่ร่วมเรียนรู้มากว่าสามปีครับ ส่วนหลักการอื่น ๆ ขอให้ท่านลองสังเกตตัวเองเป็นหลักครับ เวลาที่ท่านมาเรียนถ้าท่านรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย แสดงว่าท่านทำถูกหลักแล้ว หลักที่ว่าคือ "เรียนแบบสบาย ๆ อย่าเครียดอย่าเพ่ง และก็อย่าเผลอ" คือการเรียนด้วยความรู้สึกตัวครับ ขอให้ท่านลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ ถ้าทำแล้วท่านมีความสุข ก็แสดงว่าท่านทำถูกแล้ว ถ้าทำแล้วยังไม่มีความสุข แสดงว่าท่านอาจจะทำอะไรสักอย่างมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เพราะร่างกายจิตใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าฟังคนอื่นแล้วเอามาทำทั้งหมด ขอให้มาปรับให้เข้ากับชีวิตเราครับ นี่ก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่งเช่นกัน คือ "การหมั่นสังเกตร่างกายและจิตใจตัวเอง" คำว่า "หมั่น" ก็เช่นกันนะครับ ไม่ใช่ "ตั้งท่า" สังเกตตลอดเวลา หมายความว่า ให้สังเกตเฉพาะตอนที่นึกขึ้นได้ครับ ตอนที่เผลอก็ไม่เป็นไร คราวหน้านึกขึ้นได้ใหม่ ก็สังเกตใหม่ แล้ว เราจะเริ่มเห็นว่า การสังเกตของเราจะมาเองโดยไม่ต้อง "ตั้งท่า"

นี่แหละครับที่เขาเรียกว่า "จิต" ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ครับ ที่สำคัญ อย่าไปคาดหวังว่า "จิต" แบบนี้ จะเกิดเพราะเราอยากให้มันเกิดนะครับ มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราใส่ "เหตุปัจจัย" ไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่เหมาะสมครับ เหตุปัจจัยที่ว่า ก็คือ "การหมั่นสังเกต" ตัวเองทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ครับ ทำไปเรื่อย ๆ แล้วท่านจะพบว่า วันหนึ่งชีวิตช่างเต็มไปด้วยความสุข และเป็นเรื่องง่ายเสียจริง ๆ ประสบการณ์ตรงของผม บอกว่าอย่างนั้นครับ

แล้วค่อยพบกันใหม่
ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง
18 สิงหาคม 2552

17 สิงหาคม 2552

การเรียนในภาคแรกของนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิต

นักศึกษาหลายท่านอาจสงสัย หรืออาจวิตกกังวลว่า "เอ...เราจะเรียนหนักไหมในเทอมแรก?...เราจะเรียนอะไรบ้างในเทอมแรก?...จะเรียนไหวไหมหนอ?..." ประเด็นนี้ ทางสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้หารือกับผู้อำนวยการและผู้บริหารศูนย์ทั่วประเทศกว่า 50 ศูนย์ จนได้แนวทางร่วมกันว่า ในเทอมแรกไม่อยากให้นักศึกษารับภาระทางการเรียนหนักจนเกินไป และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสปรับตัวเรื่องการเรียนรู้ จึงได้จัดกระบวนการเรียนรู้เพียง 3 วิชา และเป็นวิชาในวิถีชีวิตทั้งนั้น ส่วนวิชาที่เป็นพื้นฐานทางวิชาการ เช่น ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ ค่อยว่ากันหลังจากการเรียนเทอมแรกผ่านไปแล้ว

3 วิชาที่จะเรียนกันในเทอมแรกได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็น่าจะได้ ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง อาจารย์พิเศษ ซึ่งประจำอยู่ที่วัดป่ายาง วิชาการเป้าหมายชีวิต จะมีอาจารย์ ชุติพร ราชเวท อาจารย์ประจำศูนย์ฯ ของเรา และวิชาโครงงาน (หรือข้อเสนอโครงการวิจัยปฏิบัติการที่นักศึกษาจะปฏิบัติในช่วงการเรียนรู้ 3 ปีต่อไปนี้) จะมีอาจารย์สรศํกดิ์ ภิญญโญ มาเป็นผู้จัดกระบวนการ โดยมีอาจารย์ในศูนย์ทุกท่านมาเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยบงให้กับนักศึกษาแต่ละกลุ่ม หลายท่านที่อาจกังวลใจอยู่ว่า "อะไรนา...โครงการวิจัย?" ก็ไม่ต้องตกใจครับ อาจารย์ของเราไม่ได้มีหน้าที่มาสกัดไม่ให้นักศึกษาเรียนจบ (มาคอยจับผิดนักศึกษา) เหมือนการศึกษากระแสหลัก แต่อาจารย์เรามีหน้าที่ช่วยเหลือให้นักศึกษาเรียนรู้ ทำได้ และประสบความสำเร็จในชีวิตและการเรียน

แล้วค่อยพบกันใหม่ครับ
ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง
17 สิงหาคม 2552

16 สิงหาคม 2552

มหาวิทยาลัยชีวิตช้างกลางมาแล้วจ้า

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา สจ.มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล หัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตมาเปิดให้บริการผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ในเขตอำเภอช้างกลางและอำเภอใกล้เคียง และทีมงานคณะกรรมการศูนย์ฯ ได้มีโอกาสพบปะนักศึกษารุ่นแรกของมหา' ลัย วันนี้เป็นการทำความคุ้นเคยกันเบื่องต้น (ในระบบเขาเรียกว่า ปฐมนิเทศ) บรรรยากาศเป็นไปอย่างสนุนสนาน เป็นกันเอง นักศึกษาใหม่ทุกคนฉายแววแห่งความสุขออกมาทางดวงตาครับ ตามที่ผมสังเกตเห็น

ช่วงนี้เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กันยายน ศกนี้ โอกาสหน้าจะเก็บภาพบรรยากาศห้องเรียนและบรรยากาศกิจกรรมอื่น ๆ มาฝากครับ

หลายคนอาจสงสัยว่า "มหาวิทยาลัยชีวิต" คืออะไรนา? เบื้องต้นขอบอกเพียสั้น ๆ ว่า "คือการปฏิบัติการศึกษาในรอบ 100 ปีของโลก ที่เปลี่ยนจากการเรียนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง มาเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง" สาขาที่เปิดในภาคเรียนนี้ของช้างกลางคือ "สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ครับ รับผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นกรรมการศูนย์เรียนรู้นี้ด้วย นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ ผมตื่นเต้นที่จะได้ร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้กับ "มหาวิทยาลัยชีวิต" ตัวจริงเสียที หลังจากที่ผ่านมาสองสามปี ต้องหวานอมขมกลืน กับระบบราชการของการศึกษษแบบเก่า แล้วค่อยเจอกันที่เวทีเรียนรู้ครับ สำหรับท่านที่อยากจะรู้จักมหาวิทยาลัยชีวิตให้มากขึ้นกว่านี้
ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง
16 สิงหาคม 2552