18 สิงหาคม 2552

คำแนะนำในการเรียนกับมหาวิทยาลัยชีวิต

ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งประสาทปริญญาโดย สถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน หรือที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัยชีวิต" นั้น มุ่งสร้าง "ผู้รู้" ให้อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศํกดิ์ศรีและมีกิน ผู้ที่มาเรียนทุกท่าน จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า "เรามาเพื่อเรียนรู้" ไม่ได้มาเพียงเรียนเพียงแค่เพื่อ "ให้ได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกะเขาสักคน" คำแนะนำสำหรับผม ผู้ที่เคยหลงผิดมาแล้ว ในการเรียนกับการศึกษากระแสหลัก ที่ต้องการเพียงแค่ "ความโก้หรู" กับการได้ชื่อว่า เป็น "บัณฑิต" "มหาบัณฑิต" หรือแม้แต่มีคำนำหน้าว่า "ด๊อกเตอร์" กะเขา กว่าจะได้มารู้จักกับการเรียนรู้จริง ๆ ก็เมื่อได้มารู้จักกับมหาวิทยาลัยชีวิตนี่แหละ ทำให้ผมได้รู้จักวิธีการเรียนกับมหาวิทยาลัยชีวิตบ้าง

สำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตให้มีความสุข และความสำเร็จจะตามมาเอง ผมมีข้อคิดที่จะแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาทั้งหลายดังต่อไปนี้ครับ ที่สำคัญ "อ่านแล้ว อย่าเชื่อทันที ต้องนำไปใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน" เพราะอย่างที่โบราณว่าไว้ "ลางเนื้อ ชอบลางยา" ลองอ่าน แล้วลองเอาไปทำดู ถ้าเป็นประโยชน์ ก็ทำต่อไป ถ้าทำแล้วเป็นทุกข์ เป็นโทษ ก็อย่าลังเลที่จะเปลี่ยนหาวิธีที่เหมาะสมกับเราครับ ลองอ่านดูนะครับ

อันดับแรก ห้องเรียนของเรา คือห้องเรียนจริง ๆ ครับ ไม่ใช่เรียก "ห้องเรียน" แล้วสอนเอา ๆ ผู้เรียนก็ได้แต่จำเอา ๆ เพื่อไปสอบ เสร็จแล้วก็ไม่เกิดการเรียนรู้อะไร อย่างที่ว่าครับ ห้องเรียน คือ ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่เอาตัวมานั่งอยู่ในห้องบางที่อาจต้องเซ็นชื่อแล้วเรียกว่า "มีส่วนร่วม" เหมือนที่เราพบเห็นในระบบราชการเขาทำกันนะครับ ส่วนร่วมคือ "ต้องเอาใจมาด้วย" คือ ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในเนื้อหาที่เราฟังจากผู้อื่น และที่เราพูดเองด้วย ผมอยากจะให้ท่านลองนึกถึง ศิลปินที่เวลาท่านพูด ท่านนำเสนอผลงานของท่าน อย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั่นแหละครับ เพราะการเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามันไม่ผ่านมาทาง "หัวใจ" ครับ การศึกษากระแสหลักเขาสอน "หัวคิด" ครับ แต่เราต้องการสร้างคนที่มี "หัวใจ" นำ "หัวคิด" ครับ

นั่นเป็นหลักการสำคัญในการเรียนกับมหาวิทยาลัยชีวิต ตามความเข้าใจของผมที่ร่วมเรียนรู้มากว่าสามปีครับ ส่วนหลักการอื่น ๆ ขอให้ท่านลองสังเกตตัวเองเป็นหลักครับ เวลาที่ท่านมาเรียนถ้าท่านรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย แสดงว่าท่านทำถูกหลักแล้ว หลักที่ว่าคือ "เรียนแบบสบาย ๆ อย่าเครียดอย่าเพ่ง และก็อย่าเผลอ" คือการเรียนด้วยความรู้สึกตัวครับ ขอให้ท่านลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ ถ้าทำแล้วท่านมีความสุข ก็แสดงว่าท่านทำถูกแล้ว ถ้าทำแล้วยังไม่มีความสุข แสดงว่าท่านอาจจะทำอะไรสักอย่างมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เพราะร่างกายจิตใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าฟังคนอื่นแล้วเอามาทำทั้งหมด ขอให้มาปรับให้เข้ากับชีวิตเราครับ นี่ก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่งเช่นกัน คือ "การหมั่นสังเกตร่างกายและจิตใจตัวเอง" คำว่า "หมั่น" ก็เช่นกันนะครับ ไม่ใช่ "ตั้งท่า" สังเกตตลอดเวลา หมายความว่า ให้สังเกตเฉพาะตอนที่นึกขึ้นได้ครับ ตอนที่เผลอก็ไม่เป็นไร คราวหน้านึกขึ้นได้ใหม่ ก็สังเกตใหม่ แล้ว เราจะเริ่มเห็นว่า การสังเกตของเราจะมาเองโดยไม่ต้อง "ตั้งท่า"

นี่แหละครับที่เขาเรียกว่า "จิต" ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ครับ ที่สำคัญ อย่าไปคาดหวังว่า "จิต" แบบนี้ จะเกิดเพราะเราอยากให้มันเกิดนะครับ มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราใส่ "เหตุปัจจัย" ไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่เหมาะสมครับ เหตุปัจจัยที่ว่า ก็คือ "การหมั่นสังเกต" ตัวเองทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ครับ ทำไปเรื่อย ๆ แล้วท่านจะพบว่า วันหนึ่งชีวิตช่างเต็มไปด้วยความสุข และเป็นเรื่องง่ายเสียจริง ๆ ประสบการณ์ตรงของผม บอกว่าอย่างนั้นครับ

แล้วค่อยพบกันใหม่
ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง
18 สิงหาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น