19 สิงหาคม 2552

กระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต

หลายท่าน ไม่ว่านักศึกษาหรือแม้แต่ผู้เข้ามาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต อาจจะยังเคยชินอยู่กับการเรียนแบบเก่า นั่นคือ "สอนมาก เรียนน้อย" โดยเฉพาะอาจารย์ผู้มาจากการศึกษาแบบเก่า วันนี้ผมมีบรรยากาศการจัดกระบวนการเรียนรู้ "แบบมหาวิทยาลัยชีวิต" ตามความเข้าใจของผมเองนะครับ อย่าเข้าใจว่าที่ผมเอามาแบ่งปันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องสิ่งเดียว เพราะการคิดแบบนี้ ก็คือการคิดในระบบการศึกษาแบบเก่าที่เชื่อใน "สิ่งที่ถูกต้องที่สุดเพียงสิ่งเดียว" ตามวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าของนักวิทยาศาสตร์สังคมท่านหนึ่ง (the one best way, F.W. Taylor, Scientific Management) ขอให้มองเพียงว่า "เป็นเพียงวิธีเดินไปสู่จุดหมายเดียวกันวิธีหนึ่งเท่านั้นเอง

วันนั้นผมได้รับเกียรติให้บรรยายในหลักสูตร "การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ระบบกสิกรรมธรรมชาติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง" ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายางครับ หัวข้อที่ผมได้รับมอบหมาย ทางศูนย์ฯ แจ้งว่า ต้องการให้ผู้เข้าฝึกอบรม ตื่นตัว และมองเห็นความเป็นไปได้ในการนำความรู้ไปปฏิบัติ ผมจึงแจ้งทางศูนย์ไปว่าจะบรรยายในชื่อเรื่องว่า "เตรียม!!!ปลดปล่อยพลังใน เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายของชีวิต" ชื่อค่อนข้างยาวครับ ผมมีเวลาสองชั่วโมงในการทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ครับ

ผมเลือกใช้วิธีการสัมนาเชิงปฏิบัติการมาใช้ โดยแบ่งเวลาชั่วโมงครึ่งให้เป็นของผู้เข้าร่วม อีกครึ่งชั่วโมง ผมจับประเด็นและสรุปครับ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เสียงสะท้อนหลังจากจัดกระบวนการเสร็จ หลายคนบอกว่า "ดี ไม่ง่วง" และก็เป็นดังที่ผมคาดครับคือ "ครึ่งหนึ่งเข้าใจ อีกครึ่งหนึ่งไม่เข้าใจ" เป็นคำสะท้อนที่ดีมากครับ เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องไปปรับวิธีการนำเสนอ และภาษาในการสื่อสารให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้มากกว่านี้ นี่ยังดีนะครับ ถ้าเป็นครั้งแรก ๆ ผู้ฟังส่วนใหญ่บอกว่า "ไม่เข้าใจ" ลองมาดูขั้นตอนในการนำเสนอของผมดูบ้างครับ เผื่อท่านจะได้ให้คำแนะนำว่า ผมควรปรับตรงไหน

ตอนแรกผมปลุกให้ผู้เข้าร่วมสัมนาตื่นตัวโดยผมยืมเทคนิคของอาจารย์ณรงค์ ศรีวารินทร์ อาจารย์พิเศษของหลายศูนย์ฯ ในนครศรีธรรมราช มาใช้ครับ ผมให้ผู้เข้าร่วมนับเลข โดยให้จำนวนที่ลงท้ายด้วย 3 ตบมือ แต่ถ้าลงท้ายด้วย 7 ให้ลุกขึ้น เป็นวิธีการที่เรียบง่าย แต่ได้ผลดีมากครับ ผู้เข้าร่วมตื่นตัวดีมาก เพราะถ้าเผลอ คนที่จะต้องตบมือก็จะพูดออก และคนที่จะลุกขึ้นยืน ก็ไม่ลุกขึ้นแต่นับเลข เป็นต้น ผมได้เรียนเทคนิคนี้จากอาจารย์ณรงค์ครับ สมัยไปปฐมนิเทศนักศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ช้างกลางครับ

ต่อมาผมให้แต่ลคู่หันหน้าเข้าหากัน แล้วให้ถามคำถามคู่ของตนสามคำถามต่อไปนี้ครับ หนึ่ง คุณคือใคร? (อันนี้ได้จากอาจารย์ณรงค์ อีกเช่นเคยครับ) สอง เกิดมาทำไม? และสาม ชีวิตนี้หวังอะไร? เสร็จแล้วให้แต่ละคู่ออกมาเล่าเรื่องของเพื่อนตามคำถามที่ถามครับ ตอนนี้ก็เพิ่มความสนุนสนานขึ้นไปอีกครับ หลายคนบอกว่า เกิดมา 70 ปี แล้ว เพิ่งได้จับไมค์เป็นครั้งแรก ผมชอบตอนนี้มากครับ ที่ได้มอบโอกาสให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม แต่ก็มีคุณป้าบางคนนะครับ ตื่นเต้นจน "ลมขึ้น" ก็มี ผมต้องช่วยปฐมพยายาลโดยการ "กดจุด ลมปราณ" นั่นแหละ ถึงจะดีขึ้น

พอนำเสนอเสร็จ ผมก็ได้ถามคำถามปิดท้าย ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมต้องตัดสินใจแล้วว่า จะนำความรู้ไปปฏิบัติหรือไม่ ผมถามว่า หนึ่ง อะไรขัดขวางเราจากการมีชีวิตในแบบที่เราต้องการ สองทำไมเราถึงทำในสิ่งที่เราทำอยู่ และสาม อะไรกำหนดอารมณ์และทางเลือกของเรา คำถามนี้ผมถามให้ผู้เข้าอบรมตอบตัวเองครับ โดยผมอธิบายเพิ่มเติมว่า "พฤติกรรมของคนเราถูกกำหนดโดยสามสิ่งภายในตัวเราเองคือ ลักษณะท่าทางด้านร่างกาย ความสนใจ และภาษาพูด" เราสามารถเปลี่ยนจากความซึมเศร้าไปสู่ความสุขได้ "ชั่วลัดนิ้วมือ" โดยการเปลี่ยนทั้งสามอย่างที่กล่าวมาข้างต้นครับ เราสามารถทำอะไรก็สำเร็จ ถ้าเราควบคุมสิ่งทั้งสามสิ่งนี้

แม้ผู้เข้าร่วมสัมนาจะสะท้อนออกมาว่า เข้าใจเพียงครึ่งเดียว แต่ผมก็พอใจครับ แน่นอน การปรับปรุงเป็นสิ่งที่ผมต้องทำต่อไป ลองชมภาพบรรยากาศแล้วมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นครับ
ดร.สวัสดิ์ พุ่มพวง
18 สิงหาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น